Learn-Together

KNOWLEDGE is a product of learning process that created by people who knew how to create it.

Thursday, May 19, 2005

ความสำเร็จ กับ การเด็ดยอด

d000001


เคยได้ยินมาเหมือนกันครับ เมื่อคราพูดคุยถึงเรื่อง KM (การจัดการความรู้) ในช่วงของการใช้เครื่องมือตัวหนึ่ง ที่เราเรียกกันว่า "การเล่าเรื่อง" (storytelling) หลายคนยังรู้สึกอึดอัดว่าทำไมต้องเล่าเรื่องความสำเร็จ และทำไมต้องเลือกผู้ที่ประสบความสำเร็จมาร่วมวงแบ่งปันเรื่องเล่านั้น มันไม่ดูคล้าย "การเด็ดยอด" ไปหน่อยหรือ

ผมไม่มีเจตนาที่จะแสดงเหตุผลหักล้างใดๆนะครับ คงเป็นเพียงแค่ แสดงความคิดเห็นบนฐานความเชื่อของผมขณะนี้เพียงเท่านั้น ถึงเรื่องนี้

ความสำเร็จใดๆก็ตามผมเชื่อว่า มันเป็นเพียงจุดหมายปลายทาง และมันก็ไม่ยั่งยืนด้วย แต่ที่ผมสนใจ คือ เส้นทางเดินที่ผ่านมาว่ามีเรื่องราวการฝ่าฟันมาได้อย่างไร? (ที่จริงอันนี้ก็มีความล้มเหลว หรือปัญหาแฝงอยู่ในตัวมันเองอยู่แล้ว) ระหว่างทางเรียนรู้อะไรบ้าง? จะพัฒนาตัวเองต่อไปได้อย่างไร? หากเราตกหลุม "ชื่นชมความสำเร็จ" แบบหยุดนิ่ง สักวันก็คงจะสูญพันธุ์ไปแน่นอน อย่าง ไดโนเสาร์ ถึงแม้จะใหญ่กว่าสัตว์อื่น แต่ก็มีสิทธิ์สูญพันธุ์ได้เหมือนกัน

กลับมาที่ KM ครับ ผมมักจะถามตัวเองว่า "เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ใครมี ความรู้อะไรที่ซ่อนอยู่ในตัว (Tacit Knowledge) บ้าง?" สำหรับผมหรืออีกหลายคน ใช้วิธีค้นหาเหมือนกัน ก็คือ เชื่อว่า "ใครที่ทำอะไรสำเร็จ แสดงว่าคนนั้นมีความรู้เชิงปฏิบัติในเรื่องนั้น" ถึงแม้จะเป็นความสำเร็จเพียงเรื่องเล็กๆก็ตาม เช่น วิธีการทำงานใหม่ๆ (อาจเป็นเรื่องเล็กๆ), สิ่งประดิษฐ์เล็กๆดูเหมือนจะไม่มีค่าอะไรแต่ใช้งานได้ดี อื่นๆอีกมายมาก เหล่านี้ถือเป็นความสำเร็จทั้งสิ้น

แน่นอนครับ การเรียนรู้ มันเกิดได้ทั้งจากฝากความสำเร็จ และ ฝากปัญหา แล้วแต่จะเลือกตามความชอบโดยส่วนตัวนะครับ แต่ทั้งสองฝากต่างก็มีข้อดี ข้อเสียที่ไม่เหมือนกัน แต่ทั้งสองต้องอยู่บนฐานของความเป้นจริงนะครับ ไม่ใช่เดา หรือสันนิฐานว่าจะเป็นอย่างนั้น ควรจะเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวจะกลายเป็นว่า จับเอาคนที่ไม่เคยขับรถ มานั่งคุยกันว่าจะขับรถอย่างไร?

Wednesday, May 18, 2005

อย่าดังแต่ท่อ.....ล้อไม่หมุน

ประเด็นที่มักจะเจอปัญหาของการเริ่มต้น KM ไม่ว่าจะเป็นในองค์กร หรือชุมชนก็ตาม ผู้ที่จะเริ่มต้น ยังไม่รู้จัก หรือหาไม่เจอ Intellectual capital ในองค์กรหรือชุมชน ทำไมต้องหาสิ่งนี้ก่อน?

ผมเชื่อว่า KM เป็นการจัดการความรู้ทั้งสองด้าน และโดยเฉพาะ Tacit Knowledge และความรู้ประเภทนี้จะอยู่ ในBest หรือ good practice (แล้วแต่สะดวกใจจะเรียก) นั่นเท่ากับว่า ต้นทุน ขององค์กรที่เรามี จะมากหรือน้อยไม่สำคัญ สำคัญที่ว่าคุณจะจัดการกับมันอย่างไร? ลองหาดูก่อนก็ได้ครับว่า เจอในด้านไหนก่อนก็เริ่มที่ด้านนั้น เป็นการทดลองจากการปฏิบัติจริง (อย่ารอให้สมบูรณ์แบบเลยครับ เพราะมีหลายองค์กรที่รอ แล้วก็ไม่ได้ลงมือสักที่ มัวแต่ตั้งท่า ปัญญาไม่เกิดครับ)

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากๆในกระบวนการ KM คือ knowledge sharing สร้างวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้มากขึ้นกว่าเดิม โดยคิดค้นกุศโลบายขึ้นมาว่า "ทำอย่างไร จึงจะทำให้ คนรู้สึกอยากจะเข้ามา share รู้สึกเชื่อและไว้วางใจ ลดอำนาจ ลดความยุ่งยากที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้ามา share และทำให้เป็นนิจต่อเนื่องสม่ำเสมอ ผู้บริหารต้องทำตัวให้ลูกน้องรู้สึกว่าได้รับความเป็นอิสระในการคิดสร้างสรรค์ สนับสนุนด้านนโยบายที่เอื้อต่อการ share และเมื่อ share แล้วก็อย่าลืม เขียนเป็น knowledge assets เก็บไว้ด้วยนะครับ คลังความรู้ที่ว่านี้ ไม่ใช่ รายงานการประชุม อย่างที่เคยทำนะครับ เขียนในลักษณะเขียนเรื่องเล่าที่เห็นบรรยากาศ เห็นตัวคน เห็นความรู้สึก และเห็นตัวแก่นความรู้อยู่ในนั้นด้วย ตลอดเวลาของแต่ละครั้งของการ share อย่าลืมสรุปบทเรียนด้วยนะครับ สังเกตว่าวิธีการที่เราใช้มันดีตรงไหน ไม่ดีตรงไหน ครั้งต่อไปจะปรับวิธีการอย่างไร และคุณได้เรียนรู้อะไรบ้างในแต่ครั้งของการ share หากคุณทำอย่างนี้ไประยะหนึ่ง ก็จะเริ่มสังเกตเห็นว่าคุณจะต้องทำอะไรในก้าวต่อไป

Tuesday, May 17, 2005

ความเอย ความรู้



“สร้างเอง เสพเอง มิมัวเกรง ใครมาบอก

รู้จริง รู้หลอก ผลที่ออก ย่อมบอกเรา


ยิ่งเรียน ยิ่งรู้ ครูคือเงา


แล้วใครเล่า จะดีเท่า เจ้าบอกเอง”

ริมระเบียงห้องพัก แยกนิด้า : 17 พฤษภาคม 2548 ธวัช