Learn-Together

KNOWLEDGE is a product of learning process that created by people who knew how to create it.

Wednesday, March 02, 2005

ภูมิปัญญาเกษตรกรไทย : การเรียนรู้ที่ขาดช่วงไป

ธวัช หมัดเต๊ะ : สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)

รั้งหนึ่ง ณ ศาลาการเปรียญวัดวังจิก ตำบลวังจิก อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร ริมฝั่งแม่น้ำยมเป็นจุดนัดหมายของเหล่าเครือข่ายชมรมเกษตรธรรมชาติและผักปลอดสารพิษภายในจังหวัดพิจิตรมีตัวแทนจากแทบทุกอำเภอ โดยมีทีมงานจากมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร และสาธารณสุขพิจิตร ทำหน้าที่แม่งานประสานนัดหมายตลอดจนอำนวยความสะดวกในการทำเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนั้น ผมได้มีโอกาสเข้าไปร่วมเรียนรู้กับคนอื่นๆ และรู้สึกคุ้มค่ามากสำหรับสิ่งที่ได้ติดไม้ติดมือกลับบ้าน หลายท่านอาจจะสงสัยว่าผมได้อะไรหรือ?
จากการฟังชาวนาหรือเกษตรกรที่มารวมตัวกัน พูดคุยกันถึงเรื่องการทำปุ๋ยชีวภาพบ้าง ทำน้ำหมักชีวภาพบ้าง เล่าให้ฟังวิธีการกำจัดหอยเชอรี่บ้าง บ้างก็เล่าประสบการณ์การทำปุ๋ยขี้ควายอัดเม็ด บ้างก็เล่าวิธีเอาวัชพืชบางชนิดมาหมักเป็นน้ำไล่แมลง และอื่นๆอีกมากมายล้วนแต่น่าสนใจทั้งสิ้น เรื่องราวเหล่านี้ สะท้อนอะไรบางอย่างออกมา เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่าเกษตรกรที่มาต่างมีคุณสมบัติของนักทดลอง เป็นนักเรียนรู้ที่สมองไม่ยอมหยุดนิ่ง ทั้งๆที่หลายท่านที่มาต่างเป็นไม้ใกล้ฝั่งแต่หัวใจไม่เคยยอมแพ้สภาพสังขารที่เสื่อมถอยไปตามกาลเวลา การค้นพบแต่ละสิ่ง แต่ละอย่างไม่ได้เกิดขึ้นแบบง่ายๆ ต้องผ่านการทดลองซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า ถึงขนาดบางท่านถึงกับถูกดูหมิ่นดูแคลนในช่วงแรกๆว่ากำลังทำในสิ่งที่ไม่คุณค่า ไม่เกิดประโยชน์ทางการเงินเลย แล้วชีวิตจะพ้นจากความยากจนได้อย่างไร โชคดีที่เกษตรกรเหล่านี้มีฉันทะ มีความมุ่งมั่นที่แรงพอ ทำให้มีวันนี้ วันที่ผมได้เรียนรู้และพอจะเข้าใจอะไรดีๆมากขึ้น นั่นล่ะสิ่งที่ผมได้ติดไม้ติดมือกลับมา หลายท่านอาจเกิดคำถามในใจว่า เกษตรกรที่ผมเจอนั้น เขามีฐานะดีอยู่แล้วหรือเปล่า จึงทำสิ่งเหล่านี้ได้ ตอบได้ว่า ณ ปัจจุบันหลายท่านรู้สึกพอเพียงกับสิ่งที่ตนมี หลายคนไม่ได้มีทรัพย์สิน ที่ดิน เงินทองมากมายอย่างเราคิด บางคนอยู่ได้ทั้งที่ไม่มีไฟฟ้าใช้และไม่มีความรู้สึกว่าตนเองขาดแคลน

อีกครั้งหนึ่งลงมาแถบภาคกลางบ้าง ไปดู “โรงเรียนชาวนา” ของชาวนาตำบลวัดดาว อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ที่เพิ่งจัดผ่านไปเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ ปีนี้ โดยมี มูลนิธิข้าวขวัญ แสดงบทเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชาวนาด้วยกันเอง ได้ไปดูแปลงนาข้าวของป้าบังอรที่ทำโดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมีรวมไปถึงสารเคมีทางการเกษตรตัวอื่นๆ สิ่งที่ทุกคนเห็นเหมือนกันก็คือ ต้นข้าวที่ยืนอยู่เต็มแปลงนา มีรวงข้าวที่อวบอิ่ม ไปดูบ้านยายปิ่นทองทำน้ำหมักสารพัดสูตร อาทิ สูตรปราบหอยเชอรี่ สูตรฮอร์โมนไข่บำรุง สูตรไล่แมลง และอื่นๆอีกเยอะแยะมากมาย ไปดูลุงสนั่นและลุงสุทินทำน้ำหมักชีวภาพ และการเพาะเลี้ยงเชื้อเอาไว้ใช้ต่อในยามที่ต้องการ แบบชนิดไม่ขาดแคลน ไปดูคุณเพชรรัตน์เพาะพันธุ์ข้าวที่ผ่านการคัดเลือกพันธุ์ด้วยตนเองช่างน่าทึ่งในผลงานทีเดียว โรงเรียนชาวนาเขาแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือมีตั้งแต่ ประถม มัธยม และมหาวิทยาลัย ผู้ที่ผ่านโรงเรียนชาวนาระดับประถมได้คือผู้ที่เลิกใช้ย่าฆ่าแมลง ระดับมัธยมยากขึ้นมาหน่อยต้องเลิกใช้ปุ๋ยเคมี และระดับมหาวิทยาลัยต้องคัดพันธุ์ข้าวเป็น ผสมพันธุ์ข้าวได้ ดูเกณฑ์การผ่านชั้นของโรงเรียนชาวนาแล้วคนนอกอาจจะดูว่าผ่านง่ายนะครับ แต่สำหรับชาวนาแล้วยอมรับว่ายากครับ เป็นเรื่องของการต่อสู้กับจิตใจของตัวเอง เรียนรู้เพื่อที่จะหลุดพ้นจากความเชื่อในวิถีการผลิตเพื่อมุ่งผลผลิตเพียงอย่างเดียว ต่อสู้กับความเคยชินแบบแผนใหม่ ไปสู่ระบบเกษตรกรรมที่เรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น

ทั้งหมดที่เล่ามาถึงแม้ว่าจะเป็นกรณีเล็กๆ ของชุมชนเล็กๆ แต่มีสิ่งหนึ่งที่น่าเรียนรู้อย่างยิ่ง คือ การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (paradigm) ของการพัฒนาเกษตรกรรมไทยชนิดหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว ที่กล่าวมาไม่ได้หมายความว่าชาวนาจะต้องปฏิเสธเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่ได้หมายถึง “หัวอนุรักษ์” ที่ต้องใช้แต่ของเก่าแล้วจะนับว่าเป็นคนรักบ้านเกิดเมืองนอน ไม่ได้หมายความว่าเกษตรดั้งเดิมดีกว่าเกษตรแผนใหม่ แต่มากกว่านั้น คือ “ทุนทางปัญญา” ของชาวนา หรือเกษตรกรไทย อีกคำหนึ่งที่เรามักจะคุ้นหู คือ “ภูมิปัญญา” ซึ่งก็คือ ทุนอย่างหนึ่งของชุมชน หากเราลองทบทวนการเกิดของภูมิปัญญาในแต่ละยุคของภาคการเกษตร ในอดีตปู่ย่า-ตายาย ของเราต้องขนขวายสร้างความรู้ไว้ใช้เองตลอดเวลา เพราะอะไรหรือ? ก็เพราะไม่มีใครไปสนับสนุนส่งเสริม ไม่มียาฆ่าแมลงขาย ไม่มีปุ๋ยเคมีให้ซื้อ ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอีกหลายๆอย่าง ดังนั้น กระบวนการเรียนรู้จึงจำเป็นมาก หากไม่มีนั่นก็หมายถึงเสี่ยงต่อความอยู่รอด จึงจำเป็นต้องคิดค้นอะไรออกมามากมาย แต่ทั้งหมดก็อยู่บนพื้นฐานพออยู่พอกิน เป็นความรู้ที่ใกล้ตัว สร้างขึ้นมาเพื่อใช้เอง ไม่ได้เอาไว้อวดใคร หรือเอาไว้ขายใคร ต่อมาคนรุ่นหลังที่เห็นคุณค่าก็เรียกกันว่า “ภูมิปัญญา”

เมื่อเราเริ่มรู้จักเกษตรแผนใหม่ รู้จักพันธุ์พืชเกษตรใหม่ๆ ที่ผ่านการทดลองในแปลงสาธิตซึ่งถูกออกแบบเพียบพร้อมด้วยระบบอำนวยความสะดวกต่างๆครบครัน มีผลงานยืนยันว่าต้องได้ผลผลิตที่มากกว่าเดิม เกษตรกรแอบดีใจคิดว่าต่อไปนี้จะรวยขึ้นแล้ว แต่ลืมคิดไปว่าปัจจัยการผลิตทุกอย่างต่อไปนี้ก็ต้องซื้อหาจากข้างนอกเหมือนกัน ที่แย่มากที่สุดคือ ราคาผลผลิตการเกษตรที่ผ่านมานั้นผกผันตลอดเวลา อีกทั้งบางฤดูกาลเกษตรกรต้องประสบกับปัญหาภัยธรรมชาตินานับประการ เกษตรกรไทยจึงต้องแบกรับภาระหนี้สินที่สะสมเพิ่มขึ้นแทน แต่ที่หนักหนาสาหัสมากก็คือ พฤติกรรมการเรียนรู้ของเกษตรกรไทยหดหายตามไปด้วย อีกทั้งหน่วยงานที่มีส่วนส่งเสริมสนับสนุนหลงลืมการกระตุ้นกระบวนการเรียนรู้ของเกษตรกร ยึดวิธีการสนับสนุนแบบ “ยุคผู้ใหญ่ลี” ที่เนื้อร้องท่อนหนึ่งว่า “ทางการเขาสั่งมาว่า........” เกษตรกรเลยต้องคอยให้ทางราชการสั่งการ ขณะเดียวกันทางการก็ยึดหลักการส่งเสริมที่จะทำให้เกษตรกรไทยพ้นจากวงจรอุบาทว์ ที่ประกอบด้วย “โง่ จน เจ็บ” สันนิฐานว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ คือตัว “โง่” เชื่อว่าความรู้ที่ถูกต้องนั้นเกิดขึ้นโดยนักวิชาการ แล้วค่อยนำความรู้ประเภทนั้นไปให้เกษตรกรอีกทีหนึ่ง บางครั้งความรู้ที่ว่านี้ตกหล่นหายระหว่างทางไปบ้างก็มี วิธีการมอบความรู้ก็ทำผ่านการจัด “หลักสูตรฝึกอบรม” ที่จับเกษตรกรมานั่งฟัง หลับบ้างไม่หลับบ้าง ทั้งๆที่ลึกๆในใจหลายคนไม่อยากจะเข้ามาร่วม แต่ก็ต้องทำตัวเป็นเด็กดี เผื่อว่าคราวหน้าคราวหลังหากมีการสนับสนุนอะไรมาจากทางการ ก็จะได้ไม่พลาดโอกาสเหมือนอย่างเพื่อนคนอื่นเขาได้กัน บางหน่วยงานพยายามสร้างแปลงสาธิต หรือแปลงทดลองในสภาพภูมิอากาศที่ใกล้เคียงกับพื้นที่ของเกษตรกร แต่ลืมคิดไปอีกอย่างว่า สภาพ(บริบท)ของเกษตรกรนั้นมีความผิดแผกแตกต่างกันมากมายหลายรูปแบบ อีกทั้งมีเรื่องของความเชื่อ ประเพณีวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลต่อการประกอบอาชีพที่หลากหลายผสมปนเปในมิติที่ซับซ้อนเกินกว่าที่แปลงสาธิต หรือแปลงทดลองจะเลียนแบบให้เหมือนจริงได้ ความพยายามเช่นนี้ เราท่านก็เห็นกันมาเยอะแล้ว บ้างก็กลายเป็นอนุสาวรีย์ไปแล้ว ถึงเวลาหรือยังที่เราต้องทบทวนวิธีคิดให้หลุดจากแบบเดิมไปบ้าง

จากการที่ได้เข้าไปสัมผัสกับ “เกษตรนักสู้ นักทดลอง นักเรียนรู้” ที่ยกตัวอย่างพอสังเขปดังข้างต้น ทำให้เข้าใจวิธีการคิดหรือกระบวนการทางความคิดอะไรบางอย่างขึ้นมาได้ เกษตรกรเหล่านี้พิสูจน์ด้วยการลงมือปฏิบัติจริงให้เห็นว่า กระบวนการเรียนรู้ คือปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยนำพาอนาคตของเกษตรกรไทยให้หลุดพ้นจากวังวนของการพัฒนากระแสหลัก ตระหนักถึง “ความมั่นคงในชีวิต” (security of life) มากกว่าที่จะมุ่งสู่ถนนแห่ง “ความมั่งคั่ง” (prosperity) แบบลมๆแล้ง เชื่อมั่นในความรู้ที่ตนมี และเป็นความรู้ที่เข้ากับจริตของตนยากที่จะอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ และเรียนรู้สร้างความรู้ใหม่ตลอดเวลา เกษตรกรเหล่านี้เรียนรู้สร้างความรู้ออกมาในรูปแบบง่ายๆแต่แฝงด้วยวิธีคิดที่ลึกล้ำ เช่น คิดทดลองสูตรปุ๋ยชีวภาพ สูตรฮอร์โมน สูตรน้ำหมักไล่แมลง เรียนรู้ทำความรู้จัก แมลงตัวดี และแมลงตัวร้าย เป็นต้น เหล่านี้เป็นความรู้ที่สร้างขึ้นเองได้ ลดค่าใช้จ่ายด้านปัจจัยการผลิตแบบเห็นๆ แถมผลผลิตก็ไม่ได้แย่กว่าวิธีเกษตรแผนใหม่ แถมปลอดภัยจากสารเคมีอันตรายต่างๆ ที่ไม่ต้องซื้อหา “อันตราย” เข้ามาในบ้านเหมือนอย่างแต่ก่อน สภาพแวดล้อมก็ดีขึ้น สิ่งมีชีวิตเล็กๆในท้องไร่ท้องนาที่เคยทำหน้าที่เป็นแรงงานชั้นดีช่วยย่อยสลายตอซังตอหญ้าก็กลับคืนมาทำงานให้อย่างเดิม ความสมบูรณ์ของธรรมชาติค่อยๆฟื้นคืนชีพ ลูกหลานพอจะมีโอกาสได้เห็น ”ปลากัด” ตามหัวไร่ปลายนาอย่างเด็กๆสมัยก่อนบ้าง

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากเหล่าขุนพลเกษตรกร ป.4 เหล่านี้ประการหนึ่งก็คือ ทำให้เข้าใจว่า “กระบวนการส่งเสริมการเกษตร” นั้นจำต้องเปลี่ยน “กระบวนทัศน์” หรือ “กระบาลทัศน์ (Shift Paradigm) ต้องเชื่อว่า “ความรู้นั้นมีอยู่บ้างแล้ว ในทุกแห่งหนที่มีผู้คนอาศัยอยู่” ดังนั้น ภาระ หน้าที่ที่เหลือก็คือ สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับเกษตรกร กระตุ้นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้สิ่งที่ใกล้ตัว ช่วยเกษตรกร ซึ่งไม่ถนัดในการขีดเขียน รวบรวมความรู้เหล่านั้นไว้ เชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกร รู้ว่าที่ไหนใครเก่งเรื่องใด ไปหาเรียนลัดได้จากใคร ติดต่อได้อย่างไร แต่ละคนมีวิธีสร้างความรู้ได้อย่างไร เรื่องเหล่านี้หากทำเป็นเรื่องเป็นราวได้จะเกิดประโยชน์กับสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง มีคนเคยกล่าวเอาไว้ว่า “มองป่า อย่าเห็นเพียงต้นไม้” เพราะนั่นเป็นการมองที่ขาดการเรียนรู้ เช่นเดียวกับการมอง “เกษตรปลอดสาร” เห็นเพียงแต่ว่าต้องทำให้ผลผลิตทางการเกษตรไร้สารเคมี หรือไร้สารพิษปนเปื้อน ซึ่งไม่แตกต่างอะไรกับการมอง “กลุ่มออมทรัพย์” เห็นเพียงกิจกรรมการรวบรวมเงิน หรือ การมอง “แผนแม่บทชุมชน” ที่เห็นเพียงรูปแบบเค้าโครงของการเขียนแผนลงบนแผ่นกระดาษ ดังนั้น หน่วยงานที่ส่งเสริมสนับสนุนจึงต้องไม่ลืมเสมอว่าบทบาทหน้าที่ของท่านคือ “คุณอำนวย” (Knowledge Facilitator) คือผู้ที่ไปช่วยอำนวยความสะดวกให้เกิดการเรียนรู้ และต้องไม่ไปแสดงบทบาทของ “คุณอำนาจ” เพราะว่า ”ความรู้ รวมทั้ง ปัญญา”ไม่เคยเกิดขึ้นจากการสั่งการ แต่จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนมีความรู้สึกเป็นอิสระทางความคิดต่างหาก
1 มีนาคม 2548

แหล่งเรียนรู้เพิ่มเติม:
มูลนิธิข้าวขวัญ 13/1 หมู่ 3 ถ.เทศบาลท่าเสด็จ 1 ซอย 6 ต.สระแก้ว อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี 72000 โทร.035-597193
มูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร 19/1 ม.5 ต.ป่ามะคาน อ.เมือง จ.พิจิตร โทร. 056-652990-1