Learn-Together

KNOWLEDGE is a product of learning process that created by people who knew how to create it.

Monday, April 04, 2005

“ออกแบบกระบวนการเรียนรู้”

กุญแจดอกสำคัญไขประตูบานแรกของการเข้าสู่สังคมแห่งการเรียนรู้
(ตามความเชื่อของผม ซึ่งอาจจะผิดหรือถูกตามความคิดของท่านก็ได้)
Mae-Ping School
ภาพโดย มูลนิธิโลกสีเขียว


ธวัช หมัดเต๊ะ: สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)

คำ คำนี้ผมมีความรู้สึกว่ามันเฉี่ยวหูไป มา อยู่หลายครั้งทีเดียว แต่แปลกใจตรงที่ผมไม่รู้สึกเฉลียวใจอะไรกับมันเลย ครั้งแรกที่เกิดความรู้สึก “ปิ๊งแว้บ” กับคำว่า “การออกแบบกระบวนการเรียนรู้” เมื่อครั้งที่ได้เข้าไปร่วมประชุมภาคีท้องถิ่น เมื่อได้ฟังคุณทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการโครงการสร้างเสริมการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) เล่าเรื่องการสร้างนักจัดการความรู้ท้องถิ่นให้เกิดขึ้นในองค์กรส่วนท้องถิ่น เพื่อทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการช่วยให้องค์กรส่วนท้องถิ่นเกิดการเรียนรู้ และพัฒนาไปสู่ชุมชนแห่งการเรียนรู้ และในเวทีเดียวกันนั้น คุณสุรเดช เดชคุ้มวงศ์ มูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร ได้เล่าให้ฟังถึงการเรียนรู้ของเกษตรกรเครือข่ายเกษตรปลอดสารพิจิตร ที่ได้สร้างชุดความรู้ขึ้นมามากมาย ต่อมาทิ้งระยะเวลาไม่ถึงเดือนในเวที “ตลาดนัดความรู้เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน” ในระหว่างที่กลุ่มผู้เข้าร่วมกำลังพูดคุยกันถึงประเด็น “การจัดเวทีชุมชน” มีท่านหนึ่งเสนอคำว่า “การออกแบบกระบวนการเรียนรู้” ยิ่งเป็นการตอกย้ำจุดสนใจหลังอาการปิ๊งแว้บของผมมากยิ่งขึ้น
ก่อนหน้านี้ผมมีอาการคล้ายๆ กับการมองหาคำตอบอะไรบางอย่าง ที่มีความรู้สึกว่าสิ่งนั้นยังคงซ่อนตัวอยู่อย่างลึกลับ ทั้งๆที่รู้สึกลึกๆเสมอว่าสิ่งนั้นอยู่ใกล้ตัวเรามากแต่กลับหามันไม่เจอ สิ่งที่ผมกำลังมองหานั้น จริงแล้วหลายคนก็มองหาอยู่เช่นเดียวกัน เป็นโจทย์ของคนหลายคนในสังคมมักตั้งคำถามกับเรื่องราวของเส้นทางสู่ความสำเร็จ อาทิ ทำไมแผนแม่บทชุมชนของคนไม้เรียง-นครศรีธรรมราช แผนแม่บทของตำบลเขาคราม-กระบี่ กรณีกลุ่มสัจจะออมทรัพย์คีรีวงศ์-นครศรีธรรมราช กลุ่มสัจจะออมทรัพย์วัดหนองไผ่ล้อม-ตราด หรือกรณีโรงเรียนชาวนา-สุพรรณบุรี และที่อื่นๆอีกมากที่ยังไม่กล่าวถึงล้วนแต่ทำออกมาได้ผลดี ทั้งๆที่หลายชุมชน หลายหน่วยงานราชการ หลายหน่วยงานภาคเอกชนไปดู ไปเห็นมา แต่ก็ยังแกะปริศนาความสำเร็จได้ยาก ส่วนใหญ่แล้วจับต้องลูบคลำได้เพียงแค่ผิว ยังเข้าไปไม่ถึงแก่นเนื้อใน เหมือนมีอะไรบังตาทำให้มองไม่เห็นสิ่งนั้น
ทำให้ผมเริ่มเข้าใจว่าสิ่งหนึ่ง จากกรณีความสำเร็จต่างๆที่ยกมากล่าวนั้นมีคุณลักษณะที่คล้ายกัน ก็คือ “การออกแบบกระบวนการเรียนรู้” สิ่งนี้ยากที่จะสื่อให้ผู้อื่นเข้าใจได้ ต้องลงมือทำเท่านั้นจึงจะเกิดการเรียนรู้เองว่า ควรจะต้องออกแบบอย่างไร จึงจะทำให้คนในชุมชน คนในหน่วยงาน คนในบริษัท คนในโรงเรียน คนในมหาวิทยาลัย คนในโรงพยาบาล คนในวัด คนในมัสยิด คนในบ้าน หรือคนในที่ใดๆก็ตามเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและกระทำไปอย่างไม่สิ้นสุด หลายคนมักจะติดกับรูปแบบที่พยายามกลั่นออกมาเป็นวิธีการขั้นตอนคล้ายๆกับหลักสูตรในโรงเรียนซึ่งยังคงดูแข็งๆ และคนที่นำมาใช้ก็มักจะใช้แบบผิดทิศผิดทางเสียเป็นส่วนมาก แต่กระบวนการเรียนรู้ที่ว่านี้ โดยส่วนตัวเชื่อว่าต้องมีความประณีต และแยบยลมากกว่าหลักสูตรที่เราเคยเห็น เคยรู้จัก ต้องผูกติดเข้ากับทุกมิติของสังคม ทุกมิติทางจิตใจของปัจเจก ถึงอธิบายอย่างไร ก็คงยากที่จะสื่อถึงกันได้ เหมือนกับตอนที่คำว่า “การออกแบบกระบวนการเรียนรู้” มันเฉี่ยวหูผมไปมาหลายรอบ กว่าจะเฉลียวใจได้ก็ต้องเกิดจากเรียนรู้หลายครั้งหลายครา ต้องเจอต้องเห็นและต้องทำ จึงจะช่วยเป็นแรงขับภายในที่ค่อยๆก่อตัวการเรียนรู้ แล้วผุดขึ้นมากลางใจในบางครั้ง บางครา ในเวลาที่จิตมันว่างพอ
ยังคงเป็นปริศนาต่อไป หากตราบใดที่สังคมของเรายังเคยชินกับการ “บริโภคความรู้” จนกลายเป็น “สังคมแห่งการรับรู้” มากกว่าที่จะเป็น “สังคมที่สร้างความรู้เอง” หรือ “สังคมแห่งการเรียนรู้” การค้นหากุญแจดอกอื่นๆจึงทำให้ค้นหาได้ยาก เพราะแม้แต่ได้กุญแจดอกแรกไปแล้ว แต่หากยังคงสาละวนว่า การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ นั้น ต้องสร้างเป็นหลักสูตรสำเร็จเพื่อนำไปขยายผลยังที่อื่นแล้ว การเรียนรู้ก็ยังเป็นเรื่องที่ห่างไกลอยู่เช่นเดิม เพราะการเรียนรู้เป็นอะไรที่เกี่ยวข้องกับจิตใจของคน และจิตใจของคนก็เกี่ยวพันอยู่กับหลายสิ่งหลายอย่าง ต่างที่ก็ต่างสภาพ การเรียนรู้จึงเป็นเรื่องที่เคลื่อนไหวอย่างไม่หยุดนิ่ง รูปแบบการเรียนรู้ประเภทสำเร็จรูป จึงเป็นเพียงภาพนิ่งเพียงเสี้ยวนิดหนึ่งของสังคมเท่านั้นเอง
โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า “สังคมแห่งการเรียนรู้ คือสังคมที่อุดมไปด้วยความรู้ที่ล้วนสร้างขึ้นเอง เพื่อไว้ใช้เองอย่างไม่ขาดสาย” ส่วน ”สังคมแห่งการรับรู้ เป็นสังคมที่ต้องยืมจมูกคนอื่นหายใจ มีความสุขจากการได้เสพความรู้ ทั้งๆที่ความรู้นั้นเอาไปใช้อะไรไม่ได้เลย วันใดผู้ซึ่งทำหน้าที่ผลิตความรู้ เกิดขัดข้องด้วยเหตุใดก็ตามสังคมนั้นก็จะเป็นอัมพาตทันที” ร่วมกันเรียนรู้เพื่อค้นหากุญแจดอกต่อไปร่วมกันนะครับ ใครเจอก็บอกกันบ้างเน้อ!

2 เมษายน 2548