Learn-Together

KNOWLEDGE is a product of learning process that created by people who knew how to create it.

Tuesday, February 08, 2005

โจทย์การจัดการความรู้เพื่อการพัฒนาระบบราชการ

“การพัฒนาความรู้ในส่วนราชการ เพื่อให้มีลักษณะเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ[1]” ดูเหมือนจะเป็นโจทย์ใหญ่ของทุกส่วนราชการในชั่วโมงนี้ นับตั้งแต่ระดับกระทรวง กรม กอง ลงไปถึงแผนกย่อยต่างๆ ในสังกัด ต่างต้องลุกขึ้นทบทวนแบบฝึกหัดข้อนี้กันอย่างเอาจริงเอาจัง เมื่อพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 มีผลบังคับใช้ โดยเฉพาะมาตรา 11 ระบุชัดเจนถึงภารกิจของส่วนราชการว่าต้องปรับเปลี่ยนไปในทิศทางใด ก่อนที่จะเดินเครื่องพัฒนาระบบราชการสิ่งหนึ่งที่จะลืมเสียมิได้ นั่นคือ คำถามที่ต้องเน้นย้ำเสมือนเข็มทิศที่ต้องหยิบออกมาดูทุกครั้งในเวลาที่ไม่มั่นใจว่าจะเลือกเดินเส้นทางใด “จุดมุ่งหมายสูงสุดของการปฏิรูปภาครัฐ คือ อะไร?” หากผู้ที่กำลังจะออกเดินทางยังใช้เข็มทิศเรือนนี้ไม่เป็น การเดินทางออกไปรั้งแต่จะก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะเผชิญกับสารพันปัญหาอย่างแน่นอน อีกทั้งอาจต้องสูญเสียทรัพยากรไปอย่างไม่คุ้มค่า
ประชาชนคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเป็นอยู่ดีและมีความสุข สังคมไทยมีเสถียรภาพ และชาติไทยมีเกียรติภูมิ ได้รับความเชื่อถือ และมีความสามารถสูงในการแข่งขันเวทีโลก นี่คือภารกิจอันยิ่งใหญ่ของภาครัฐที่ได้กล่าวไว้ในแผนแม่บทการพัฒนาระบบราชการ และเพื่อตอบสนองให้ภารกิจดังกล่าวสำเร็จลุล่วงไปได้ ส่วนราชการจำต้องเร่งปฏิรูปขนานใหญ่ เพื่อให้ได้มาซึ่ง ความสามารถในการ 1) นำบริการที่ดีมีคุณภาพสูง ไปสู่ประชาชน 2) มีระบบการทำงานและเจ้าหน้าที่ที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลสูงเท่าเทียมกับมาตรฐานสากล 3) มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า 4) เป็นระบบที่เกื้อกูลและไวต่อปัญหาและความต้องการของประชาชน ยืดหยุ่นและปรับตัวได้ ทันต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมและประชาคมโลก รวมทั้งเสริมสร้างวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล 5) เป็นระบบที่ได้รับความเชื่อถือศรัทธาจากประชาชน เหล่านี้ดังที่ปรากฏอยู่ในแผนแม่บทของการปฏิรูประบบราชการ
เนื้อหาสาระของการปฏิรูปครั้งนี้จึงมุ่งประเด็นไปที่ การทบทวนภารกิจและวิธีการบริหารงานภาครัฐ การปรับเปลี่ยนระบบงบประมาณ การเงิน และการพัสดุ การปรับเปลี่ยนระบบบริหารบุคคล การปรับเปลี่ยนกฎหมายให้สอดรับกับแนวทางการบริหารงานแบบใหม่ การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมและค่านิยมองค์กร โดยรวมแล้วเห็นว่ากรอบทิศทางของการปฏิรูประบบราชการนั้นประกอบด้วย 2 หลักใหญ่ๆ คือ ประการแรกเป็นเรื่องการยกระดับขีดความสามารถของหน่วยงานราชการ ประการที่ 2 เป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาพื้นฐานที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารงาน ด้วยเหตุทั้งสองประการจึงถือเสมือนธงใหญ่ของการปฏิรูประบบราชการ ดังนั้นภาครัฐจำเป็นต้องตอบโจทย์ที่ว่า ทำอย่างไร หน่วยงานภาครัฐจึงจะปรับเปลี่ยนไปสู่ องค์กรแห่งการเรียนรู้ (learning organization)?, ทำอย่างไรจึงจะสร้างให้เกิดเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งภายในและข้ามหน่วยงาน? , ทำอย่างไร ให้หน่วยงานภาครัฐพัฒนาขีดความสามารถในการออกนโยบายสาธารณะที่ดี?, และทำอย่างไรให้หน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วนสามารถบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย และรูปแบบการจัดการความรู้ในลักษณะใดที่น่าจะเหมาะสมกับการขับเคลื่อนงานบริหารราชการ? เหล่านี้เป็นคำถามทิ้งท้ายจากคณะผู้ทรงคุณวุฒิในช่วงเสวนากลุ่มช่วงเช้า ซึ่งประกอบด้วย ดร. ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ, ศ.นพ. วิจารณ์ พานิช ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม, นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการมูลนิธิสารธารณสุขแห่งชาติ และ นายธวัชชัย ตั้งสง่า ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ และมี นพ. ชูชัย ศุภวงศ์ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินการ ในการประชุมสัมมนาการเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้รับผิดชอบหลักด้านการพัฒนาระบบราชการ ณ สโมสรตำรวจ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2547 ที่ผ่านมา
เป็นธรรมดานั่นเอง ที่คนเรามักจะมีคำถามต่อสิ่งแปลกใหม่ที่เข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งแปลกใหม่ที่คนอื่นแนะนำให้ทำอย่างโน้นอย่างนี้ ทั้งที่เข้าใจว่ามันเป็นสิ่งดีแต่ในทางปฏิบัติมักจะประสบกับปัญหาว่าจะเริ่มต้นอย่างไร? และจะลงมือจัดการข้อจำกัดที่มีอยู่เดิมได้อย่างไร? หากกล่าวถึงการจัดการความรู้อาจจะยกตัวอย่างข้อจำกัดในเรื่องนี้ เช่น ใช้เวลากับงานเอกสารมากจนไม่สามารถให้เวลากับกิจกรรมอย่างอื่นได้อีก วิธีการทำงานแบบเดิมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนกลายเป็นความเคยชิน รู้สึกกังวลผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง เหล่านี้เป็นต้น ถือได้ว่าเป็นภารกิจที่ท้าทายต่อวงการพัฒนาระบบราชการเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะประเด็นการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งมีองค์ประกอบที่สัมพันธ์กันอย่างซับซ้อนหากการปฏิรูประบบราชการให้ความสำคัญเพียงมิติใดมิติหนึ่งเท่านั้น ก็ยากที่จะตอบโจทย์ดังกล่าวได้ ดังนั้น เมื่อการปฏิรูประบบราชการ เชื่อว่า การจัดการความรู้นั้นเป็นเสมือนเครื่องมือที่สำคัญชิ้นหนึ่งสามารถตอบโจทย์ข้อนี้ได้ จึงจำเป็นต้องปูพื้นทำความเข้าใจเบื้องต้นในเรื่อง “การจัดการความรู้” บวกกับ “นโยบายสาธารณะ” ให้แก่หัวหน้าส่วนราชการต่างๆ โดยมี สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) เป็นผู้ประสานงานการจัดสัมมนาในครั้งนี้ขึ้นมา
การจัดการความรู้ฉบับ “ปลาทู” ได้ถูกยกขึ้นมานำเสนอในเวทีแห่งนี้ เป็นรูปแบบแนวคิดที่พัฒนาโดย สคส. ซึ่งมี ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผู้อำนวยการ สคส. และ ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการสื่อสารพัฒนาการเรียนรู้, สคส. รับหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอดแนวความคิดการจัดการความรู้ให้แก่ผู้เข้าร่วมสัมมนา กล่าวโดยสรุป คือ การจัดการความรู้ฉบับปลาทู ประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลักๆ ส่วนแรก คือ “ส่วนหัวปลา ตาปลา” หมายถึง การกำหนดเป้าหมายของการจัดการความรู้ หรือ เรียกว่า Knowledge Vision เป็นการเน้นย้ำให้รู้ว่าก่อนลงมือจัดการความรู้ในหน่วยงานนั้น ผู้ปฏิบัติต้องตอบตนเองให้ได้ก่อนว่าจะทำการจัดการความรู้ไปเพื่ออะไร? ในส่วนหัวปลามีเครื่องมือที่เรียกว่า “ธารปัญญา” เป็นกลไกที่ช่วยให้แต่ละภาคส่วนราชการต้องไปขบคิดว่า ความสามารถหรือองค์ประกอบหลักของเป้าหมายของงานนั้นควรจะต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ทำการประเมินตนเองตามปัจจัยหลักเหล่านั้นเพื่อให้ทราบว่าปัจจุบันหน่วยงานของตนอยู่ในพัฒนาการขั้นใด และมีเป้าหมายซึ่งคาดว่าจะปรับปรุงให้ไปถึงขั้นใด ส่วนที่สอง คือ “ตัวปลา” (Knowledge Sharing) เป็นส่วนที่ให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ช่วยเหลือ เกื้อกูลซึ่งกันและกัน เมื่อเข้าใจส่วนหัวปลาแล้วนำผลการประเมินตนเองมาเขียนเป็นเส้นกราฟแล้วนำมาเปรียบเทียบกับหน่วยงานหรือแผนกงานย่อยอื่นๆ ในที่สุดก็จะเห็นว่า หน่วยงานของตนควรจะเรียนรู้ในเรื่องใด และเรียนรู้จากใคร อีกด้านหนึ่งทำให้ทราบว่าหน่วยงานของตนมีความเลิศในด้านใด และควรจะแบ่งปันความรู้ในเรื่องนั้นๆ ให้กับใครบ้าง ส่วนสุดท้าย “หางปลา” (Knowledge Assets) เป็นการสร้างคลังความรู้ของหน่วยงาน นำไปเชื่อมโยงกับเครือข่ายจัดการความรู้ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือช่วยทำให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว และคล่องตัวมากยิ่งขึ้น และอาจพัฒนาต่อยอดไปจนถึงขั้นเกิดเป็น “ชุมชนนักปฏิบัติ”
ช่วงภาคบ่ายได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบเวทีการสัมมนาให้เข้ากับบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย ทุกท่านได้มีโอกาสได้สัมผัสกับบรรยากาศแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสมือนจริง โดยกำหนดขอบเขตการพูดคุยในกลุ่มให้อยู่ในวงประเด็นใดประเด็นหนึ่งจากตารางอิสรภาพ ยกตัวอย่างเช่น การจัดการความรู้และการจัดการข้อมูลสารสนเทศ การบริหารทรัพยากรบุคคลและการสร้างทีมงาน เป็นต้น สมาชิกในแต่ละกลุ่มใช้เรื่องเล่าจากประสบการณ์การทำงานมาร่วมแบ่งปันให้กับสมาชิกอื่นๆในกลุ่มได้รับฟัง จากนั้น กลุ่มคัดเลือกประเด็นหรือเรื่องเล่าที่คิดว่ามีพลังมากที่สุด ไปนำเสนอในเวทีประชุมใหญ่ ซึ่งเรื่องเล่าเหล่านี้ได้ถูกบันทึกและเก็บรวบรวมเป็นตัวอย่าง “คลังความรู้” ของภาคราชการ เป็นผลผลิตหนึ่งที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน และคาดว่าจะเกิดพลังมากยิ่งขึ้นหากหน่วยงานใด สร้างกระบวนให้ได้มาซึ่ง คลังความรู้ และคลังความรู้เหล่านั้นจะมีคุณค่ามหาศาลมากขึ้นหลายเท่าตัวหากหน่วยงานนั้น สามารถใช้คลังความรู้เหล่านี้เสมือนวัตถุดิบทางความคิด นำไปพัฒนาต่อยอดจนเกิดเป็นความรู้ใหม่ออกมา เป็นความรู้ที่ผลักดันให้ภารกิจบรรลุเป้าหมายเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งคนที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต่างพึงพอใจกับความสำเร็จนั้น
นอกจากนี้ ในงานสัมมนาผู้จัดยังได้เชิญหน่วยงาน กลุ่มองค์กรซึ่งได้ดำเนินงานในรูปแบบของการจัดการความรู้มากบ้างน้อยบ้างมาแสดงนิทรรศการบริเวณด้านหน้าอาคารของห้องสัมมนา เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้พูดคุยกับผู้แทนจากหน่วยงานเหล่านั้น ได้เห็นรูปแบบการจัดการความรู้ในหลากหลายบริบท อาทิ ปูนซีเมนต์นครหลวง การจัดการความรู้เพื่อการเกษตรยั่งยืน การจัดการความรู้ในโรงพยาบาล อย่างน้อยที่สุดผู้เข้าร่วมสัมมนาได้เห็นตัวอย่างการจัดการความรู้ที่เป็นรูปธรรมได้พูดคุยทำความเข้าใจเรื่องการจัดการความรู้กับผู้แทนจากองค์กรที่มาแสดงนิทรรศการ น่าจะดีกว่าการฟังการบรรยายเพียงอย่างเดียว แต่แน่นอนที่สุด การจัดการความรู้นั่น หากไม่ลองลงมือทำเอง ก็ยากที่เข้าใจได้ คงไม่มีใครสามารถปั่นจักรยานได้ เพียงแค่อ่านคู่มือ หรือฟังบรรยายเรื่องการปั่นจักยาน โดยปราศจากการฝึกหัดทดลอง

22 กันยายน 2547
[1] ข้อความบางส่วนจากพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 มาตรา 11

0 Comments:

Post a Comment

<< Home