Learn-Together

KNOWLEDGE is a product of learning process that created by people who knew how to create it.

Thursday, February 03, 2005

สคส. กับบทบาท "คนค้นเพชร"

ธวัช หมัดเต๊ะ, สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม

ด้วยความสูงค่า ทรงคุณค่าแห่งความงดงาม โดยความคิดส่วนตัวของผู้เขียนแล้ว “การค้นหาเพชร” จึงพอจะเปรียบเทียบได้กับ “การจัดการความรู้” เพชรและความรู้ ทั้งสองต่างมีคุณค่าในตัวมันเอง แต่ที่ต่างกันคือ ความรู้จับฉวยไม่ได้อย่างเพชร ดังนั้น ความรู้จึงมักจะหลุดลอดสูญหายไป (จากสังคม) ได้ง่ายกว่าเพชร คนดูเพชรเป็น จำเป็นต้องเข้าใจคุณลักษณะพื้นฐานที่สำคัญของเพชร คนจัดการความรู้เป็น ก็จำเป็นต้องเข้าใจวัฏจักรเวียนว่ายของความรู้ รู้ว่าความรู้อยู่ที่ใดบ้าง รู้ว่าควรจัดการมันอย่างไร และรู้ว่าความรู้แบบใดเหมาะกับสังคมใด ในความเป็นจริงๆ แล้วความรู้นั้นสูงค่ากว่าเพชรแน่นอน แต่ในที่นี้เพียงยกขึ้นอุปมาเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจเท่านั้นเอง
ภารกิจหนึ่งของ สคส. คือการผลักดันให้สังคมไทยยกระดับการเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้มากขึ้น โดยมีขอบเขตการทำงานครอบคลุมหลากหลายบริบท ตั้งแต่ภาครัฐ ภาคเอกชน และโดยเฉพาะกลุ่มประชาสังคมซึ่งเป็นฐานรากกลุ่มใหญ่ของประเทศ แต่เดิมเรามักจะคิดว่าความรู้คือสิ่งที่ได้มาจากในรั้วสถาบันการศึกษา เพียงเท่านั้น แต่ สคส. พยายามบอกกับสังคมว่า ความรู้นั้นอยู่ทุกหนทุกแห่งที่มีผู้คนอาศัยอยู่ ชี้ให้สังคมเห็นว่าความรู้ที่อยู่ในตัวคนถึงแม้จะไม่มีดีกรีใดๆ รับประกัน มันก็มีคุณค่านำพาสังคมนั้นๆ ไปพบกับความสุขได้เช่นกัน แต่ฟังดู “การจัดการความรู้” เหมือนเป็นสิ่งใหม่ ซึ่งจริงแล้ว ในสังคมไทยมีการจัดการความรู้อยู่แล้วบ้าง เพียงแต่ยังเป็นจุดเล็กๆ และคงยากหากไม่มีกลไกใดไปกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวเร็วยิ่งขึ้น ดังนั้นกลยุทธ์การทำงานของ สคส. ประการหนึ่งก็คือ การค้นหาจุดเล็กๆ ที่ว่านี้มาเป็นตัวอย่าง นำมาส่องแว่นขยายให้สังคมดู เพื่อให้สังคมเกิดการเรียนรู้ สร้างวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผลัดกันเป็นครูและเป็นนักเรียนในเวลาเดียวกัน หน้าที่ค้นหาจุดเล็กๆ (ของการจัดการความรู้)ที่ว่าข้างต้นนั้น เท่ากับเป็นการค้นหาเพชร ไม่เพียงแต่มองออกว่าเม็ดไหนคือเพชรแท้ และยังสามารถบอกได้ว่ามันมีคุณค่าเพียงใด แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิดนะครับว่าจุดเล็กๆ (เพชรเม็ดเล็ก) ที่ สคส. หยิบขึ้นมานั้น คือผลงานที่ปลุกปั้นโดย สคส. เพียงเจตนายกขึ้นมาเป็นบทเรียน หรือเป็นแบบเรียนของวิชาการจัดการความรู้บทหนึ่งๆ เท่านั้นเอง อาทิ บทที่หนึ่ง การจัดการความรู้ในภาคชาวนา บทที่สอง การจัดการความรู้ในภาคการจัดการดินแบบชาวบ้าน บทที่สาม การจัดการความรู้ในภาคโรงพยาบาล บทที่สี่ การจัดการความรู้ในภาคมหาวิทยาลัย บทที่ห้า การจัดการความรู้ในภาคราชการ เหล่านี้เป็นต้น รูปแบบการเคลื่อนงานของ สคส. จึงไม่ยึดติดกับรูปแบบตายตัว อาจออกมาในรูปแบบการสนับสนุนโครงการระยะสั้นบ้าง ยาวบ้าง (แต่สูงสุดไม่เกิน 2 ปี) หรือแม้แต่สนับสนุนกิจกรรมบางอย่างที่ไม่อยู่ในรูปแบบโครงการก็มี เช่น การประชุมวิชาการ การจัดงานประชุมการจัดการความรู้แห่งชาติ การจัดงานมหกรรมตลาดนัดความรู้ เป็นต้น
การเชื่อมโยงเครือข่ายภาคีหลากหลายหน่วยงานเพื่อสอดแทรก การจัดการความรู้ เข้าไปในสังคมทีละเล็กละน้อย ก็เป็นกลยุทธ์การขับเคลื่อนอันหนึ่งเช่นกัน ลำพังสำนักงานที่มีบุคลากรเพียง 8 - 9 คน คงจะไม่มีกำลังพอที่ผลักดันอะไรในสังคมได้ ความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีลักษณะคล้ายกับ “hub” (เป็นตัวกลางที่คอยเชื่อมประสานกับหลายๆจุด) จึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีอีกทางหนึ่ง โดยที่มีเป้าหมายปลายทางเดียวกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างการเดินทางร่วมกัน ร่วมกันต่อยอดความรู้ที่เกิดขึ้นจากงานให้งอกงามยิ่งขึ้น ผลักดันให้สังคมไทยทุกภาคส่วนเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้มากขึ้น แต่คงจะไม่เคร่งเครียดกับการพิจารณาว่าความสำเร็จจากการทำงานนั้นเป็นของใคร หรือเป็นผลงานใคร เอาเป็นว่าชื่นชมในความสำเร็จร่วมกัน และร่วมเรียนรู้ความผิดพลาดไปพร้อมๆกัน น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์งานมากกว่า ที่ผ่านมามีเพชรทางสังคมจำนวนไม่น้อยที่หลุดหายไปอย่างน่าเสียดาย เรายังมีทุนทางสังคมอีกจำนวนมากที่รอไม้บรรทัดวัดคุณค่าสิ่งเหล่านั้น แม้แต่ความรู้ชายขอบที่มักจะถูกลืม ซึ่งที่จริงอาจนำมาแปลงเป็นทุนได้หากสังคมเห็นคุณค่า ต่อไปเราคงจะใส่ใจกับสิ่งเหล่านี้มากขึ้น คนไทยจะเรียนรู้มากขึ้น และเมื่อนั้นคนไทยคงมีโอกาสได้เห็นพลังของสังคมแห่งการเรียนรู้ของจริงเสียที

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นมุมมองส่วนตัวของผู้เขียน

0 Comments:

Post a Comment

<< Home