Learn-Together

KNOWLEDGE is a product of learning process that created by people who knew how to create it.

Thursday, January 27, 2005

ตน(เอง)วิทยา : การจัดการความรู้แบบชาวบ้าน

โดย ธวัช หมัดเต๊ะ : สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)

เรียนกับวัว เรียนกับควาย เรียนกับไม้ เรียนกับนก เรียนกับกกไม้” เป็นวิถีการเรียนรู้อีกแบบหนึ่งที่ถูกถ่ายทอดผ่านเรื่องเล่าโดย พ่อเล็ก กุดวงศ์แก้ว ปราชญ์ชาวบ้านจากกลุ่มอินแปง อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร เป็นวิธีการเรียนที่คนทั่วไปมักจะมองว่าด้อยคุณค่า หันไปนิยมความรู้ที่ผู้อื่นหยิบยื่นให้เป็นสูตรสำเร็จ เป็นแบบพิมพ์ที่ส่งมาจากเมืองนอกเมืองนาน่านิยมยิ่ง หลักสูตรเบ็ดเสร็จจากส่วนกลางเหล่านี้ ถูกลำเลียงผ่านตามขั้นตอนราชการอย่างถูกต้องไปยังโรงเรียนต่างๆ ในเขตภูมิภาค อนุญาตให้ใช้เป็นวิชาที่สอนสั่งเยาวชนของชาติ และถือปฏิบัติมาเป็นเวลายาวนาน โดยหลงลืมเรื่องราวของตนเอง แม้แต่ในระบบการศึกษาพื้นฐาน แทบจะหาวิชาความรู้เกี่ยวกับเรื่องภายในชุมชนตนเองพบเห็นได้น้อยมาก หรือแทบจะพูดได้ว่าไม่มีเลย จนกระทั่งชาวบ้านอย่าง พ่อเล็ก กุดวงศ์แก้ว หรือ ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์[1] ปราชญ์ชาวบ้านจากอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์กล่าวทักเป็นเป็นเสียงเดียวกันว่า “คนในชุมชน ไม่มีความรู้แม้แต่จะอยู่ในบ้านของตน จึงจำต้องลำบากตรากตรำไปหาอยู่หากินที่บ้านเมืองอื่น” สิ่งที่พบเห็นในสังคมไทยน่าจะเป็นจริงดังคำกล่าวที่ว่ามา และไม่เฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงานเท่านั้น นักเรียน นักศึกษาอีกจำนวนมากที่เป็นลูกหลานของคนชนบท สังคมได้บรรจุโปรแกรมทางความคิดสำเร็จรูปเข้าไป ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนจบมหาวิทยาลัย มีแบบแผนการเดินทางของชีวิตที่เป็นไปในทำนองเดียวกัน สำเร็จการศึกษาแล้ว ต้องไปหางาน ทำงานที่มีหน้ามีตาในสังคม จึงต้องมาต่อสู้กับชีวิตการเป็นลูกจ้างในรูปแบบต่างๆกัน เพราะที่ผ่านมาโรงเรียนไม่เคยสอนให้รู้ว่าตนมีอะไรเป็นทุนอยู่แล้วบ้าง ไม่เคยสอนวิชาที่ทำให้คนท้องถิ่นรู้สึกภูมิใจในคุณค่าของสิ่งที่ตนมี

พ่อเล็ก เสริมข้อคิดดีๆ เพิ่มเติมอีกว่า “เงินทองอยู่ใต้ถุนเรือน อยากได้ต้องลงไปหาไปทำเอาเอง” เป็นนัยว่า การหยิบฉวยสิ่งใกล้ตัวมาเป็นตำราเรียน เรียนเพราะใคร่รู้ ใคร่เห็น จนกระทั่งเกิดปัญญา นำมาใช้กับชีวิตประจำวันได้อย่างกลมกลืน และพาตนให้พ้นผ่านความยากลำบากไปได้ สามารถใช้ชีวิตอยู่ในท้องถิ่นตนเองได้อย่างมีความสุข ดั่งคำที่พ่อเล็กยกมาเปรียบเปรยว่า “พระอาทิตย์ ส่องสว่างเพียงกลางวัน พระจันทร์ส่องสว่างเพียงกลางคืน แต่ปัญญาส่องสว่างทั้งกลางวันและกลางคืน แม้กำแพงกั้นกลางก็ยังสามารถมองเห็นทะลุได้” แต่เดิมพ่อเล็กยอมรับว่าหลงทิศ หลงทางไปเรียนรู้ “วิชาเขา” อยู่พักใหญ่ ไม่ได้สนใจ “วิชาเรา” หันไปปลูกอ้อย ปลูกมัน เขาส่งเสริมให้ปลูกอะไรก็ทำตามอย่างเขา แต่เมื่อยิ่งทำก็ยิ่งเป็นหนี้ จึงเป็นจุดหันเหพลิกผันของชีวิต โชคดีที่ได้ทบทวนตนเองจนกระทั่งพบว่า “ตนรู้ว่า ตนไม่รู้อะไร” จากนั้นจึงเริ่มเรียนในสิ่งที่ตนไม่รู้ “อะไร” ที่ว่านั้น คือความรู้ที่เหมาะสมกับตน ทำให้เกิดผลตามที่ตนต้องการได้ สั่งสมการเรียนรู้ “วิชาตน” ไประยะหนึ่ง พร้อมกับลงมือปฏิบัติภารกิจในชีวิตประจำวันทดลองเรียนรู้ด้วยความมุ่งมั่น จนกระทั่ง คนอื่นรอบข้างเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลง เริ่มเปิด กะบาลทัศน์ (กระบวนทัศน์) มากขึ้น เป็นจุดเล็กๆที่ขยายวิธีคิดไปสู่ชุมชนจนขยายวงที่ใหญ่ขึ้น เมื่อชุมชนเปิดใจรับมากขึ้น ปัญญาสาธารณะก็เกิดตามมา ทำให้คนกุดบากสร้างวิชาของตัวเองขึ้นมา นั่นคือ “หลักสูตรวิสาหกิจชุมชน” เพื่อให้คนในชุมชนของตนได้เรียนรู้ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันโรคขาดความรู้ที่จะอยู่ในบ้านตนเอง เยาวชนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ว่า ชุมชนของตนมีทุนทางสังคมอะไรอยู่แล้วบ้าง อะไรที่มีคุณค่าควรแก่การรักษาเอาไว้ อะไรที่จำเป็นต้องปรับปรุงพัฒนาต่อไป เหล่านี้ ทำให้คนได้เรียนรู้ตนเองมากขึ้น รู้ว่าตนควรรู้อะไรบ้าง และความรู้เช่นใดที่เหมาะสมกับตน สามารถเอาไปใช้ในการประกอบสัมมาชีพเลี้ยงตนและครอบครัวได้ รู้สึกภูมิใจ และมั่นใจตนเองมากยิ่งขึ้น

แต่ทว่า การเรียนรู้ “วิชาเรา” เพียงอย่างเดียวก็คงไม่ดีเป็นแน่แท้ การเรียน “วิชาเขา” ก็ยังคงจำเป็น เสมือนอาหารเสริม(สมอง)ให้ความรู้แตกฉาน รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลกที่หมุนเร็วกว่าเข็มนาฬิกา รู้ว่าตนจะอยู่ในตำแหน่งไหนของความเปลี่ยนแปลง รู้จักกลั่นกรอง “วิชาเขา” ว่าวิชาใดที่เหมาะกับตน ช่วยให้ตนดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างราบรื่น และวิชาใดมีระดับความสำคัญลดน้อยลงไป ดังนั้น หากตนไม่รู้ “วิชาตน” ให้ลึกซึ้งเสียก่อนแล้ว ก็ยากนักที่จะรู้ว่า “วิชาเขา” เล่มใดที่เหมาะสมกับตน อาจจะกลายเป็นคนที่แบกความรู้จนท่วมหัวแต่เอาตัวไม่รอด ดั่งที่โบราณอุปมาอุปมัยฝากแง่คิดไว้แก่เรามานานแสนนาน

การเรียนรู้ระดับปัจเจกนั้นอาจจะง่ายกว่าการขยับฐานะเป็น “กลุ่ม หรือ สังคมแห่งการเรียนรู้” ประสบการณ์ชุมชนที่ผ่านมาบอกเราอย่างหนึ่งว่า การเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้นั้น ใช่ว่าจะสามารถเนรมิตให้เกิดขึ้นได้ภายในวันสองวัน หนึ่งสัปดาห์ หรือหนึ่งเดือน เป็นสูตรตายตัว แต่เกิดจากความมุ่งมั่นของคนเพียงไม่กี่คน มีจิตใจอดทนเป็นที่สุด เฝ้ารอดูการเปลี่ยนแปลงของชุมชนวันแล้ววันเล่าและผลักดันขับเคลื่อนชุมชนด้วยกิจกรรมเล็กๆ ที่ดูเหมือนว่า ไม่น่าจะมีอิทธิพลใดๆ ต่อการเปลี่ยนแปลงของชุมชนได้เลย “สภาลานวัดตะโหมด” นั่นคืออีกหนึ่งบทพิสูจน์ของการเรียนรู้ ตั้งแต่ปี 2538 พระครูอุทิตกิจจาทร เจ้าอาวาสวัดตะโหมด อ.ตะโหมด จ. พัทลุง ได้วางรากฐานการเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ไว้เป็นอย่างดี ชาวบ้านใช้ลานวัดเป็นที่พบปะเสวนา พูดคุยสารพัดเรื่องอย่างไม่เป็นทางการ เป็นเวทีปรึกษาหารือ ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทให้แก่ชาวตะโหมดมานับครั้งไม่ถ้วน จนในที่สุดกลายเป็นองค์กรชุมชนในนาม “สภาลานวัดตะโหมด” และในปัจจุบันประธานสภาลานวัดตะโหมดสืบทอดต่อโดย พระครูสุนทรกิจจานุโยค รองเจ้าอาวาสวัดตะโหมด นับได้ว่าเป็นแหล่งความรู้ รวบรวมภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของชุมชนตะโหมด จนภายหลังต่อมาได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา อาทิ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ สนับสนุนการก่อตั้งเป็นศูนย์วัฒนธรรมบ้านตะโหมดขึ้น และพัฒนาเป็นหลักสูตร “ตะโหมดศึกษา” บรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษาในโรงเรียนวัดตะโหมด (หมุนคณานุสรณ์) และระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนประชาบำรุง[2]
สภาลานวัดตะโหมด กลายเป็นจุดศูนย์รวมของชุมชน เป็นจุดเชื่อมต่อชุมชนกับสังคมภายนอกที่ทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ใช้หลักการบริหารจัดการแบบไตรภาคี ภายใต้สูตร “บวร” (บ้าน วัด โรงเรียน) เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนประสานกับวิถีปฏิบัติดั่งเดิมที่ยังใช้ได้ดี นั่นคือ “การออกปากขอแรง” ปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม (ป่าชุมชน การจัดการน้ำ การพัฒนาที่ดิน) เหล่านี้ได้ถูกจัดการโดยชุมชนเอง สภาลานวัดตะโหมดจึงนับว่าเป็นต้นแบบชุมชนอีกแหล่งหนึ่งที่ควรค่าแก่การศึกษาเรียนรู้
[1] ที่มาของคำพูด: เวทีการประชุมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 1 23 กรกฎาคม 2547 สถาบันวิชาการ ทศท งามวงศ์วาน
[2] ที่มา: การสัมมนาทางวิชาการ สรส. ครั้งที่ 3

0 Comments:

Post a Comment

<< Home